5 ธันวาคม วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของรัชกาลที่ 9 วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ
5 ธันวาคม เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมกำหนดให้ วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสำคัญของชาติไทย ดังนี้
1. เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 – 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559) เป็นพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จสู่พระราชสมบัติตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงครองราชสมบัติยาวนานที่สุดในประเทศไทย
2. เป็นวันชาติ : เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย เดิมกำหนดให้วันที่ ๒๔ มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันชาติ เนื่องจากเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ต่อมาใน พ.ศ. 2503 ได้เปลี่ยนมาเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระมหากษัตริย์ไทย ตามขนบธรรมเนียมประเพณีอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติ และเป็นวันศูนย์รวมจิตใจความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ ปัจจุบันจึงตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี
3. เป็นวันพ่อแห่งชาติ : วันพ่อแห่งชาติ มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2523 โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษาเป็นผู้ริเริ่มหลักการและเหตุผลในการจัดตั้งวันพ่อแห่งชาติ เพราะพ่อเป็นผู้มีพระคุณที่มีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและสังคม สมควรที่ผู้เป็นลูกให้ความเคารพเทิดทูนตอบแทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสมควรที่สังคมจะยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็นพ่อ จึงถือเอาวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็น “วันพ่อแห่งชาติ” ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ร.9) ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างนานัปการ ทรงเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดา ทรงรักใคร่และให้ดอกพุทธรักษาเป็นสัญลักษณ์ของวันพ่อแห่งชาติ
ตั้งแต่พุทธศักราช 2502 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินไป ทรงกระชับสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ทั้งในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และ เอเชีย และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆ ทุกภาคทรงประจักษ์ในปัญหาของราษฎร ในชนบทที่ดำรงชีวิตด้วยความยากจน ลำเค็ญและด้อยโอกาส ได้ทรงพระวิริยะอุตสาหะหาทางแก้ปัญหาตลอดมาตราบจนปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่า ทุกหนทุกแห่งบนผืนแผ่นดินไทยที่รอยพระบาทได้ประทับลง ได้ทรงขจัดทุกข์ยากนำความผาสุกและทรงยกฐานะความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น ด้วยพระบุญญาธิการและพระปรีชาสามารถปราดเปรื่อง พร้อมด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ทรงอุทิศพระองค์เพื่อประโยชน์สุขของราษฎร และเพื่อความเจริญพัฒนาของประเทศชาติตลอดระยะเวลาโดยมิได้ทรงคำนึงประโยชน์ สุขส่วนพระองค์เลย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานโครงการนานัปการมากกว่า 4,000 โครงการ ทั้งการแพทย์สาธารณสุข การเกษตร การชลประทาน การพัฒนาที่ดิน การศึกษา การพระศาสนา การสังคมวัฒนธรรม การคมนาคม ตลอดจนการเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรในชนบท ทั้งยังทรงขจัดปัญหาทุกข์ยากของประชาชนในชุมชนเมือง เช่น ทรงแก้ปัญหาการจราจร อุทกภัย และปัญหาน้ำเน่าเสียในปัจจุบัน ได้ทรงริเริ่มโครงการการช่วยสงเคราะห์ และอนุรักษ์ช้างไทยอีกด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรากตรำพระวรกายทรงงานอย่างมิทรงเหน็ดเหนื่อย แม้ในยามทรงพระประชวร ก็มิได้ทรงหยุดยั้งพระราชดำริเพื่อขจัดความทุกข์ผดุงสุขแก่พสกนิกร กลางแดดแผดกล้าพระเสโทหลั่งชุ่มพระพักตร์และพระวรกายหยาดตกต้องผืนปฐพี ประดุจน้ำทิพย์มนต์ชโลมแผ่นดินแล้งร้างให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์นับแต่ เสด็จเถลิงถวัลย์ราชย์ตราบจนปัจจุบัน แม้ในยามประเทศประสบภาวะเศรษฐกิจ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา ก็ได้พระราชทานแนวทางดำรงชีพแบบ “เศรษฐกิจพอเพียง” และ “ทฤษฎีใหม่” ให้ราษฎรได้พึ่งตนเอง ใช้ผืนแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดประกอบอาชีพอยู่กินตามอัตภาพซึ่งราษฎร ได้ยึดถือปฏิบัติเป็นผลดีอยู่ในปัจจุบัน