การสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าเกษตร เป็นเทคนิคที่สำคัญที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลผลิตทางการเกษตรของตัวเองได้ โดยความหมายโดยทั่วไปจะหมายถึง การนำผลผลิตทางการเกษตรมาเพิ่มลักษะพิเศษหรือจุดเด่นบางอย่างให้ต่างไปจากเดิม เพื่อให้ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น สินค้าทางการเกษตรที่เป็นอาหารนั้นจะมีเทคนิคในการเพิ่มมูลค่าโดยการการแปรรูปหรือการถนอมอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่าแก่สินค่าให้มีราคาที่สูงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งหากมีการทำอย่างเป็นระบบ จะช่วยส่งผลให้ผลผลิตสินค้าทางการเกษตรมีปริมาณไม่ล้นตลาด ทำให้ไม่เกิดสงครามราคาที่จะทำให้ราคาสินค้าลดลง อีกทั้งยังเสริมสร้างอาชีพใหม่ๆ ในชุมชน และยังสามารถลดต้นทุนการผลิตสินค้าได้อีกด้วย เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรที่ได้ผ่านกระบวนการแปรรูปมาแล้วนั้นโดยส่วนใหญ่จะมีขนาดที่เล็กกว่าขนาดปกติ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าจากแหล่งผลิตไปยังแหล่งจัดจำหน่ายลดลง อีกทั้งผลจากการแปรรูปที่จะทำให้สินค้าสมารถเก็บได้นานขึ้น ยังจะก่อให้เกิดรายได้อย่างต่อเนื่องแก่ธุรกิจ เช่น โรงงานแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งสินค้าหลักของโรงงานคือแป้งมันสำปะหลัง ส่วนกากที่เหลือจากการทำแป้งสามารถนำไปตากแห้งป่นผสมเป็นอาหารสัตว์และก่อให้เกิดเป็นรายได้ตามมา ถือเป็นการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าเกษตรธรรมดาไปสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ได้
เพื่อให้การดำเนินงานพัฒนามีความสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ ประกอบกับโครงการฯ ดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลพิชัยที่อาจจัดทำภายในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ตามมาตรา 68 (7) บำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพราษฎร แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 องค์การบริหารส่วนตำบลพิชัยจึงได้จัดโครงการนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร
2. เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีทักษะ สามารถนำความรู้ไปพัฒนาเพื่อประกอบอาชีพ สร้างรายได้
3. เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน หรือกิจกรรมต่าง ๆ ได้